ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
old-wives-tales-about-newborn

ความเชื่อโบราณเกี่ยวกับทารก คนสมัยก่อนเชื่ออะไรกันบ้างนะ

Enfa สรุปให้

  • คนสมัยก่อนมีความเชื่อโบราณเกี่ยวกับทารกมากมาย ทั้งที่เป็นความเชื่อซึ่งไม่ได้มีมูลเหตุความจริง กับความเชื่อที่เป็นกุศโลบายในการดูแลเด็กอย่างเหมาะสม
  • ในครอบครัวที่มีการส่งต่อความเชื่อโบราณเกี่ยวกับทารก คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกปฏิบัติในสิ่งที่สบายใจจะทำและไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับทารกได้
  • หากเป็นความเชื่อโบราณเกี่ยวกับทารกที่ไม่ได้มีมูลเหตุความน่าจะเป็นไปได้ หรือมีรูปแบบการกระทำที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก คุณพ่อคุณแม่ไม่มีความจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ความเชื่อโบราณเกี่ยวกับทารก เชื่อดีไหม ทำไมยังทำต่อ ๆ กันมา
     • ความเชื่อเรื่องแม่ซื้อ
     • ความเชื่อเรื่องลูกมาเกิด
     • ความเชื่อเรื่อง โบราณว่าไม่ให้ลูกนอนกลาง
     • ความเชื่อเรื่อง ลักษณะทารกมีบุญ
     • ความเชื่อโบราณเกี่ยวกับทารกมีประจำเดือน
     • ความเชื่อโบราณเกี่ยวกับทารกมีฟัน
     • ความเชื่อเรื่อง คาถาเป่าท้องอืด
     • ความเชื่อเรื่อง ห้ามพูดว่าลูกหนัก
     • คำแนะนำคุณแม่หลังคลอด รับมือกับความเชื่อและอิทธิพลจากคนรอบข้างยังไงดี

คนไทยกับเรื่องของความเชื่อนี่ อาจเรียกได้ว่าเป็นของคู่กัน เรามีความเชื่อมากมายที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แม้ทุกวันนี้เราจะก้าวสู่สังคมดทคโนโลยีมากขึ้น แต่ความเชื่อในเรื่องต่าง ๆ ก็ยังไม่ถูกเจือจางไปกับความเจริญทางวัตถุแต่อย่างใด

นั่นรวมถึงความเชื่อที่เกี่ยวกับเด็กด้วย ทั้งความเชื่อโบราณเกี่ยวกับทารก ความเชื่อเรื่องลูกมาเกิด ความเชื่อในการเลี้ยงดูทารก ซึ่งยังคงถูกปลูกฝังและส่งต่อความเชื่อกันมาจนถึงปัจจุบันอย่างเหนียวแน่น และยังสามารถพบเห็นได้ในหลากหลายมุมของสังคมไทย

ความเชื่อโบราณเกี่ยวกับทารก เชื่อดีไหม ทำไมยังทำต่อ ๆ กันมา


แม้ว่าโลกของเราในปัจจุบันนี้จะมีวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้นแล้ว แต่ทำไมความเชื่อเหล่านี้ยังคงอยู่ในสังคมไทยได้อีกล่ะ ก็ต้องถามกลับไปว่า แล้วคุณกำลังพูดถึงส่วนไหนของสังคมล่ะคะ?

หากเป็นสังคมที่เข้าถึงระบบการศึกษาอย่างดี เข้าถึงการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง สามารถใช้สอยทรัพยากรได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของการเงิน แน่นอนว่าความเชื่อแปลก ๆ เกี่ยวกับเด็กทารก ก็จะถูกลบล้างด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ลงได้อย่างง่ายดาย ความเชื่อโบราณก็จะถูกปัดตกไป ไม่ถูกนำมาสานต่อสำหรับกลุ่มคนในสังคมนี้

แต่ถ้าเป็นสังคมของคนชายขอบที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา เข้าไม่ถึงระบบการแพทย์สมัยใหม่ และไม่ได้มีกำลังมากพอที่จะเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ก็ไม่แปลกที่ความเชื่อเหล่านี้จะยังถูกหล่อหลอมและยึดถือปฏิบัติเรื่อยมา เพราะคุณแม่ในสังคมชายขอบนั้นส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่สามารถนำมาหักล้างได้ และไม่สามารถเข้าถึงสิ่งที่ดีกว่าสำหรับทารกได้ ความเชื่อและประเพณีบางอย่างที่ไม่รับกับโลกสมัยปัจจุบัน จึงยังคงสืบต่อและปฏิบัติยึดถือกันมาได้อย่างยาวนาน

ขณะเดียวกัน แม้ว่าคุณแม่อาจจะอยู่ในสังคมเมือง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเชื่อเหล่านี้จะหายไป ยังคงมีให้เห็นเป็นปกติ และบ่อยครั้งที่เรื่องความเชื่อเหล่านี้เพราะถูกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จึงมักกลายมาเป็นหัวข้อที่ตอกย้ำช่องว่างระหว่างวัยของคนในครอบครัวให้เห็นชัดมากขึ้นไปอีก แล้วแบบนี้ เราควรจะเชื่อตามที่ปู่ย่าตายายบอกเราไหมนะ?

ก่อนอื่นอย่าลืมว่าเวลาที่คุณแม่ตั้งครรภ์นั้น เด็กในท้องจะไม่ได้เกิดมาเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่แค่สองคน แต่จะยังเกิดมาเป็นหลาน เหลน ลื่อ เป็นสมาชิกของครอบครัวใหญ่ด้วยเหมือนกัน

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติถ้าหากจะได้รับการแนะนำจากผู้อาวุโสในครอบครัวเกี่ยวกับการดูแลครรภ์และการเลี้ยงดูทารก ซึ่งคำแนะนำจากผู้สูงวัยนั้นบ่อยครั้งมักจะพ่วงมากับเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา จนอาจทำให้พ่อแม่สมัยใหม่หลาย ๆ คนเกิดความกระอักกระอ่วนใจ เพราะไม่ได้ศรัทธาหรือเชื่อถือในความเชื่อและค่านิยมแบบเก่า  

แต่ครั้นจะไม่ทำตาม ก็อาจจะถูกตำหนิ หรืออาจรู้สึกไม่สบายใจเมื่อถูกถามว่าทำไมไม่ทำตามที่แนะนำ หรืออาจถูกจ้ำจี้จำไชให้ทำตามที่แนะนำมา

กรณีเช่นนี้ อาจจะต้องเลือกเดินทางสายกลาง เช่น หากเป็นความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นสิริมงคล โชคลาภ วาสนา การอวยพร และความเชื่อนั้นไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของทารก ไม่ได้มีพิธีกรรมที่สุดแสนจะพิสดาร ไม่ได้เอาเด็กไปโยนลงกลางดิน ไม่ได้เอาไฟมาลนก้น หรือโยนเด็กลงน้ำ หากเป็นเพียงการอวยพรตามความเชื่อ การปฏิบัติตามก็ไม่ได้มีอะไรเสียหายค่ะ ดีไม่ดี อาจจะทำให้ลูกเราโตมาเป็นเด็กที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ก็ได้ ใครจะรู้ได้ล่ะคะ

แต่...ถ้าหากเป็นเรื่องของอาหารการกิน การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม หรือความเชื่อใด ๆ ที่จะเสี่ยงต่อสุขภาพของทารก เช่น การกวาดคอด้วยปัสสาวะ การให้เด็กกินกล้วยบดก่อนวัยอันควร การให้ทารกอมว่านสมุนไพรต่าง ๆ เพื่อรักษาโรค กรณีแบบนี้คุณพ่อคุณแม่ก็จะต้องหลีกเลี่ยงให้ดี หรืออธิบายให้เข้าใจว่าแพทย์ไม่อนุญาตให้ทำแบบนี้กับทารก เป็นการสร้างความเข้าใจใหม่ ๆ ระหว่างคนต่างวัยไปพร้อม ๆ กัน

การยึดทางสายกลางในเรื่องนี้อาจจะเป็นทางออกที่ใช้งานได้จริง คือทำเท่าที่ทำได้และไม่เสี่ยงต่อทารก ขณะเดียวกันก็ไม่แตกหักกับความหวังดีของคนในครอบครัวด้วย เป็นการประนีประนอมระหว่างคนเจนเก่ากับคนเจนใหม่แบบไม่บุบสลาย

แต่ถ้าจะต้องทำตามความเชื่อที่เมื่อพิจารณาดูแล้วเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อทารก คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะต้องยึดความปลอดภัยของทารกไว้เป็นสำคัญ เพราะหากเกิดเหตุร้ายใด ๆ ที่ไม่สามารถจะเรียกคืนลูกกลับคืนมาได้ อย่าลืมนะคะว่าพี่ ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย เหล่านั้น สามารถตัดขาดได้ แต่พวกเขาเหล่านั้น...ไม่สามารถทำลูกคนเดิมกลับคืนมาให้เราได้ค่ะ

ความเชื่อเรื่องแม่ซื้อ


แม่ซื้อ คือ ผีหรือเทวดาประจำตัวเด็กทารก ซึ่งหน้าที่ของแม่ซื้อนั้นจะคอยปกปักรักษาเด็กทารกไม่ให้เกิดอันตราย คอยเล่น หยอกเย้ากับเด็ก ๆ ให้อารมณ์ดี เรียกได้ว่าเป็นพี่เลี้ยงมือหนึ่งเลยทีเดียวค่ะ อย่างบางครั้งเวลาเราเห็นลูกนอนยิ้มหัวเราะเหมือนกำลังเล่นกับใครอยู่ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครอยู่เล่นด้วย ก็มักจะเชื่อกันว่าเด็กกำลังเล่นกับแม่ซื้อนั่นเอง

แต่ในขณะเดียวกัน หากเด็กเจ็บไข้ได้ป่วย หรืออยู่ดี ๆ ก็เกิดไม่สบายหนักขึ้นมา ก็เชื่อกันว่าแม่ซื้อจะเอาตัวเด็กไปอยู่ด้วย ทำให้จะต้องจัดพิธีรับขวัญเด็ก ว่าทารกนี้เป็นลูกคนแล้วนะ เพื่อบอกให้แม่ซื้อรู้ว่าเด็กคนนี้มีเจ้าของแล้ว จะมาเอาไปอยู่ด้วยไม่ได้

ซึ่งตามความเชื่อของคนในภาคเหนือและภาคกลาง แม่ซื้อจะมีอยู่ประจำวันทั้ง 7 คล้ายกับพระปางประจำวันเกิดนั่นแหละค่ะ

โดยแม่ซื้อประจำวันทั้ง 7 ได้แก่

  • แม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันอาทิตย์ ชื่อว่า "วิจิตรมาวรรณ" มีหัวเป็นสิงห์ มีผิวกายสีแดง
  • แม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันจันทร์ ชื่อว่า "วรรณนงคราญ" มีหัวเป็นม้า มีผิวกายสีขาวนวล
  • แม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันอังคาร ชื่อว่า "ยักษบริสุทธิ์” มีหัวเป็นควาย มีผิวกายสีชมพู
  • แม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันพุธ ชื่อว่า "สามลทัศ" มีหัวเป็นช้าง มีผิวกายสีเขียว
  • แม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันพฤหัสบดี ชื่อว่า "กาโลทุกข์" มีหัวเป็นกวาง มีผิวกายสีเหลืองอ่อน
  • แม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันศุกร์ ชื่อว่า "ยักษ์นงเยาว์" มีหัวเป็นโค มีผิวกายสีฟ้าอ่อน
  • แม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันเสาร์ ชื่อว่า "เอกาไลย์" มีหัวเป็นเสือ มีผิวกายสีดำ ทุกตนสวมเสื้อผ้าสีทอง

ซึ่งปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้ยังพบเห็นได้ในหลายภูมิภาคของประเทศไทยค่ะ บางครอบครัวเมื่อคลอดลูกได้ 3-7 วัน ก็จะต้องมีการจัดพิธีรับขวัญ หรือทำการโกนผมไฟ เพื่อรับขวัญเด็ก สร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ทารก

ความเชื่อเรื่องลูกมาเกิด


มีความเชื่อเกี่ยวกับการมาเกิดของทารกมากมาย โดยเฉพาะลักษณะอาการแพ้ท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เชื่อกันว่าสามารถบอกที่มาของเด็กในท้องได้

  • หากคุณแม่อยากกินดิน ก็เชื่อว่าเป็นพระพรหมมาเกิด หรือเป็นเทวดาในชั้นพรหมลงมาเกิด
  • หากคุณแม่อยากกินผลไม้ เชื่อว่าเป็นสัตว์เเดรัจฉานมาเกิด
  • หากคุณแม่อยากกินของหวาน น้ำผึ้ง น้ำตาล น้ำอ้อย เชื่อว่าเป็นเทวดาบนสวรรค์ลงมาเกิด
  • หากคุณแม่อยากกินเนื้อสัตว์ ของสด ของคาว เชื่อว่าเป็นสัตว์นรกมาเกิด

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เรื่องอาหารการกินกับชาติกำเนิดภพภูมิของเด็กในครรภ์นั้น ไม่เกี่ยวข้องกันเลยค่ะ

ช่วงตั้งครรภ์คุณแม่อาจอยากกินของแปลก ๆ จริง เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนไป ทำให้ประสาทสัมผัสต่อรสชาติของอาหารเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ของที่ชอบกินก็อาจจะไม่ชอบแล้ว ส่วนของแปลก ๆ ที่ไม่เคยกิน ก็มีความรู้สึกอยากกินขึ้นมา  

ความเชื่อเรื่อง โบราณว่าไม่ให้ลูกนอนกลาง


แม้แต่เรื่องตำแหน่งการนอนของเด็ก ก็มีความเชื่อกันว่าไม่ควรให้เด็กนอนตรงกลางระหว่างพ่อแม่ บ้างก็เชื่อว่าจะทำให้โชคร้าย เป็นสิ่งไม่ดีไม่ควรทำ  

ซึ่งก็อาจจะเป็นกุศโลบายของคนสมัยก่อนที่ป้องกันไม่ให้พ่อแม่นอนทับลูก เด็กอาจขาดอากาศหายใจ หรือเสี่ยงที่ความสัมพันธ์พ่อแม่อาจลดลงเนื่องจากไม่มีเวลาส่วนตัวเป็นของตัวเอง

ความเชื่อเรื่อง ลักษณะทารกมีบุญ


ลักษณะของทารกที่คนสมัยก่อนเชื่อว่า นี่คือลักษณะของผู้มีบุญมาเกิด

  • ทารกร้องเสียงดัง เชื่อว่าจะมีบุญวาสนาดี
  • ทารกร้องเสียงเบา เชื่อว่าจะมั่งมีศรีสุข
  • ทารกร้องเสียงถี่ ๆ เชื่อว่าจะเป็นเด็กแข็งแรง
  • ทารกร้อง ๆ หยุด ๆ ร้องไม่ต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเจริญเติบโตเร็ว
  • ทารกนอนหลับง่าย เชื่อว่าจะพบกับความสุขในชีวิต
  • ทารกดูดนมแม่เบาๆ  ไม่ดูดแรง เชื่อว่ามีวาสนาดี โตขึ้นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน
  • ทารกดูดนมแม่อย่างแรง เชื่อว่าจะเติบโตมาด้วยวาสนาบารมี มีชัยชนะรุ่งโรจน์
  • ทารกดูดนมแม่ด้วยอาการสงบ จะโตมามีบุญอำนาจวาสนายิ่งใหญ่

ความเชื่อโบราณเกี่ยวกับทารกมีประจำเดือน


คนโบราณเชื่อกันว่าเมื่อทารกเพศหญิงคลอดแล้วมีเลือดประจำเดือนไหลออกมา ให้รีบใช้ผ้าเช็ดไว้ แล้วนำไปเก็บไว้บูชา จะเป็นสิริมงคล เสริมความโชคดี

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เลือดที่เข้าใจว่าเป็นประจำเดือนทารกนั้น เป็นความเข้าใจผิดค่ะ เลือดดังกล่าวเป็นกลไกธรรมชาติของร่างกายทารก เกิดขึ้นเนื่องจากการสะสมฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ทารกได้รับมาจากแม่ และเมื่อถูกตัดสายสะดือ ก็จะทำให้ระดับฮอร์โมนลดต่ำลงอย่างทันที ทำให้มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดของทารกค่ะ

ความเชื่อโบราณเกี่ยวกับทารกมีฟัน


คนโบราณเชื่อกันว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ทารกเริ่มมีฟันขึ้น ให้คุณพ่อคุณแม่พูดว่าดอกไม้ ดอกไม้ขึ้นแล้ว เพื่อเป็นนัยน์ว่าฟันของลูกจะได้เรียงตัวสวย ไม่มีฟันเฟ ฟันเหยินออกมา

แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เผลอไปเรียกว่า ฟันลูกขึ้นแล้ว ก็จะทำให้ฟันซี่ต่อ ๆ ไปของลูกขึ้นช้ากว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม การขึ้นของฟันนั้นจะขึ้นตามช่วงวัยธรรมชาตอยู่แล้วค่ะ ส่วนจะฟันสวย หรือฟันไม่สวยนั้น มีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องของการดูแลฟัน หรือความผิดปกติของช่องปาก การพูดว่าดอกไม้ขึ้นแล้ว ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพฟันของทารกแต่อย่างใด

ความเชื่อเรื่อง คาถาเป่าท้องอืด


หากเด็กมีอาการท้องอืด คนโบราณมักจะมีคาถาที่ใช้สำหรับปัดเป่าอาการท้องอืด เช่น คาถาแก้ท้องอืด

“แม่ผีสาง แม่นาง แม่ซื้อ ลูกเจ้าเป็นลูกเราแล้ว อย่ามาหยิก อย่ามาข่วน อย่ามารบกวนให้ร้าย อย่ามากวนให้ได้ทุกข์ได้ไข้ เราจะเลี้ยงดูไว้ให้อยู่เป็นสุข สนุกสบาย อยู่กับเราไปจนแก่เฒ่า ถือไม้ยอดทอง กระบองยอดเพชร”

อย่างไรก็ตาม อาการท้องอืดในเด็กนั้นเป็นเรื่องปกติค่ะ การนวดท้อง การอุ้มลูก การจับลูกเรอ หรือแม้แต่การเปลี่ยนนมสูตรใหม่ สามารถช่วยให้อาการท้องอืดในเด็กดีขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้คาถาค่ะ

ความเชื่อเรื่อง ห้ามพูดว่าลูกหนัก


คนเฒ่าคนแก่มักจะไม่ให้พูดทักว่าลูกตัวหนัก แต่ทำไมถึงห้ามพูดว่าลูกหนักกันนะ?

สาเหตุก็เพราะคนสมัยก่อนเชื่อว่าถ้าหากไปทักว่าลูกตัวหนัก จะทำให้เกิดผลตรงกันข้าม คือทำให้เด็กเจ็บป่วย ไม่สบาย และกลายเป็นเด็กไม่แข็งแรง

ซึ่งการเจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องปกติค่ะ อาจมาจากอาหารการกิน สิ่งแวดล้อมที่ไม่สะอาด การติดเชื้อ หรือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง มีผลทำให้ลูกป่วย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการทักว่าลูกหนักแต่อย่างใดค่ะ

คำแนะนำคุณแม่หลังคลอด รับมือกับความเชื่อและอิทธิพลจากคนรอบข้างยังไงดี


หากคุณพ่อคุณแม่อยู่ในครอบครัวใหญ่ที่สมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่มีความเชื่อสืบต่อกันมาและต้องการที่จะปฏิบัติตามความเชื่อนั้นต่อไปจนบางครั้งอาจทำให้รู้สึกอึดอัดใจ

วิธีที่รับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ การแบ่งรับแบ่งสู้ค่ะ ความหมายคือ ให้ยอมในสิ่งที่ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายกับลูก หากเป็นไปเพื่อการอวยพรให้เด็กมีวาสนาดี และไม่ได้ทำในรูปแบบพิธีกรรมที่อันตราย หรือเป็นกุศโลบายความปลอดภัยของคนสมัยก่อน ก็ไม่ได้เสียหายอะไรที่จะปฏิบัติตาม

แต่ถ้าหากความเชื่อใดที่เสี่ยงจะส่งผลต่อสุขภาพของทารก คุณพ่อคุณแม่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด เพราะถ้าหากเกิดอันตรายกับทารกขึ้นมา สมาชิกครอบครัวคนไหนก็ไม่สามารถเรียกคืนทารกกลับมาให้เราได้

หรือควรแบ่งปันข้อมูลใหม่ ๆ ว่าแพทย์สมัยใหม่มองเรื่องนี้อย่างไร และความจริงเป็นอย่างไร เพื่อที่ผู้ใหญ่ในครอบครัวจะได้เปิดใจฟังว่าความเชื่อสมัยก่อน กับสมัยนี้ มันแตกต่างกันแล้วนะ ความเชื่อบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ล้าสมัยและอันตราย ไม่ควรที่จะสานต่อ

เลือกโภชนาการที่มี MFGM ช่วยให้ลูกน้อยมี IQ ที่เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ปีแรก

MFGM หรือ Milk Fat Globule Membrane เป็นเยื่อหุ้มอนุภาคไขมันในนมแม่ ประกอบด้วยโปรตีนและไขมันกว่า 150 ชนิด อย่างสฟิง โกไมอิลีน ฟอสโฟลิปิด แกงกลิโอไซต์ ซึ่งเป็นกลุ่มสารอาหารที่มีส่วนช่วยสำคัญต่อการเสริมพัฒนาการรับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านสติปัญญาและความจำ เด็กควรได้รับโภชนาการ MFGM จากนมแม่อย่างเพียงพอ เพื่อพัฒนาการทาง IQ/EQ ที่เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ปีแรก 



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

บทความที่แนะนำ

ลูกกินแล้วอวกเกิดจากอะไร
bathing-your-baby
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner