ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
uterine-prolapse

มดลูกหย่อน อันตรายไหม รักษาให้หายขาดได้หรือเปล่า?

Enfa สรุปให้
  • มดลูกหย่อน หรือมดลูกต่ำ คือภาวะที่มดลูกมีการเคลื่อนต่ำลงมาจนถึงช่องคลอด ในบางกรณีที่รุนแรงจะทำให้อวัยวะอื่น ๆ อย่างเช่น กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ หย่อนตามมาลงมาที่ช่องคลอดด้วย
  • มดลูกหย่อนพบได้บ่อยในผู้หญิงหลังคลอดบุตร ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้หญิงวัยทอง ผู้หญิงที่มีอายุมาก หรือผู้หญิงที่ผ่านการผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกรานมาก่อน
  • มดลูกหย่อนจะมีความรุนแรงที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ระดับที่ 1-4 ซึ่งจะไต่ระดับความรุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • มดลูกหย่อนคืออะไร
     • อาการของมดลูกหย่อน
     • มดลูกหย่อนอันตรายไหม
     • ป้องกันอาการมดลูกหย่อน
     • ไขข้อข้องใจเรื่องมดลูกหย่อนกับ Enfa Smart Club

คุณแม่หลายคนอาจพบว่า หลังจากที่คลอดลูกไปแล้ว มีอาการคล้ายกับว่ามดลูกหย่อน ซึ่งอาการมดลูกหย่อนนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่มีระดับความรุนแรงจากน้อยไปมาก

รวมทั้งอาจจะส่งผลเสียต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาภายหลังได้ บทความนี้จาก Enfa จะพาคุณแม่มารู้จักกับอาการมดลูกหย่อนให้มากขึ้นกันค่ะ

มดลูกหย่อน คืออะไร เกิดจากเหตุอะไร


มดลูกหย่อน (Prolapsed Uterus) คือ ภาวะที่มดลูกมีการเคลื่อนต่ำลงมาจนถึงช่องคลอด และในระยะยาวอาจจะทำให้อวัยวะอื่น ๆ อย่างเช่น กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ หย่อนตามมาลงมาได้อีกด้วย โดยอาการมดลูกต่ำเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

          • อายุที่มากขึ้น ทำให้อวัยวะที่อยู่บริเวณอุ้งเชิงกรานมีการเสื่อมสภาพหรือหย่อนหยาน

          • การคลอดบุตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากคุณแม่คลอดทารกที่มีขนาดตัวใหญ่ หรือคลอดทารกหลายคนในครั้งเดียวกัน มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดอาการมดลูกหย่อน

          • วัยทอง ซึ่งเป็นช่วงวัยที่จะหยุดการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน เมื่อไม่มีฮอร์โมนชนิดนี้ ก็จะทำให้อวัยวะที่อุ้งเชิงกรานไม่ค่อยแข็งแรง เกิดการหย่อนยานได้ง่าย

          • น้ำหนักตัวมากหรือโรคอ้วน การมีน้ำหนักตัวมากจะทำให้อุ้งเชิงกรานต้องแบกรับน้ำหนักและทำให้เพิ่มแรงกดลงมาที่อุ้งเชิงกราน ทำให้อุ้งเชิงกรานเสื่อมสภาพเร็ว

          • ผ่านการผ่าตัดที่อุ้งเชิงกรานมาก่อน จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกรานสูงกว่าปกติ

          • การยกของหนักเป็นประจำ การออกแรงเพื่อยกหรือเคลื่อนย้ายของที่มีน้ำหนักมากบ่อย ๆ เสี่ยงที่จะทำให้อวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกรานเสื่อมได้

อาการมดลูกหย่อน เป็นแบบไหน


อาการโดยทั่วไปของมดลูกหย่อน มีดังนี้

          • รู้สึกมีอาการหน่วง ๆ ที่บริเวณอุ้งเชิงกราน
          • รู้สึกปวดที่อุ้งเชิงกรานลามไปจนถึงบริเวณหลังส่วนล่าง
          • รู้สึกว่ามีบางอย่างหลุดออกมาทางช่องคลอด และต้องคอยดันกลับเข้าไปบ่อย ๆ
          • รู้สึกเจ็บเวลาที่มีเพศสัมพันธ์
          • มองเห็นเนื้อเยื่อโผล่ออกมาทางช่องคลอด
          • มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ
          • ปัสสาวะบ่อย หรือมีอาการปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้
          • มีอาการประเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย ๆ 

มดลูกหย่อนมีลักษณะแบบไหน มาดูตัวอย่างรูปภาพมดลูกหย่อนกัน!

รูปภาพมดลูกหย่อน

ภาพ: Pelvic Guru

มดลูกต่ำอาการจะแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงค่ะ โดยความรุนแรงของมดลูกหย่อนนั้นสามารถแบ่งได้ ดังนี้

          • ระดับที่ 0: มดลูกอยู่ในสภาวะปกติ ไม่มีการหย่อนยาน
          • ระดับที่ 1: มดลูกหย่อนลงมาถึงบริเวณช่องคลอด
          • ระดับที่ 2: มดลูกหย่อนลงมาใกล้ปากช่องคลอด
          • ระดับที่ 3: มดลูกบางส่วนหย่อนออกมานอกช่องคลอด
          • ระดับที่ 4: มดลูกทั้งหมดหย่อนออกมานอกช่องคลอด 

ในกรณีที่รุนแรงถึงระดับที่ 4 ถือได้ว่ากล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทั้งหมดเกิดการเสื่อมสภาพจนไม่สามารถยึดเหนี่ยวอวัยวะที่บริเวณอุ้งเชิงกรานเอาไว้ได้อีกต่อไป

มดลูกหย่อนอันตรายหรือไม่ รักษาอาการมดลูกหย่อนอย่างไร


ความอันตรายจากมดลูกหย่อนนั้น จะไม่ใช่อันตรายในระดับที่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิต แต่...จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันไปเรื่อย ๆ โดยจะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดที่อุ้งเชิงกราน ปวดที่หลัง หรือรู้สึกเจ็บปวดเวลาที่มีเพศสัมพันธ์

ซึ่งกระบวนการรักษานั้น จะต้องมีการวินิจฉัยก่อนว่า มดลูกหย่อนนั้นอยู่ในระดับใด และทำการรักษาตามระดับความรุนแรงนั้น 

          • สำหรับผู้ที่อาการยังไม่จัดว่าอยู่ในระดับรุนแรง แพทย์จะแนะนำให้ทำการบริหารอุ้งเชิงกรานโดยการเกร็งกล้ามเนื้อที่อุ้งเชิงกรานคล้ายกับเวลาที่กลั้นปัสสาวะ หรือขมิบช่องคลอดบ่อย ๆ โดยเกร็งค้างไว้ 10 วินาที แล้วคลายออกช้า ๆ ทำเซตละ 10 ครั้ง

โดยทุก ๆ วันควรจะต้องทำให้ได้ 3-4 เซตต่อวัน และทำอย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์ หรือถ้าหากมีน้ำหนักตัวมาก แพทย์ก็จะแนะนำให้ทำการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ตามเกณฑ์ปกติ

          • สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงขึ้นมาหน่อย แพทย์จะให้ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงช่องคลอด ซึ่งจะมีลักษณะเป็นยางนิ่ม ๆ คล้ายกับโดนัท โดยจะยัดใส่เข้าไปในช่องคลอด เพื่อช่วยดันให้มดลูกและกระเพาะปัสสาวะกลับไปอยู่ในที่เดิม

วิธีนี้จะต้องถอดอุปกรณ์ออกมาทำความสะอาดบ่อย ๆ และถ้าหากจะมีเพศสัมพันธ์ ก็จะต้องถอดอุปกรณ์นี้ก่อนทุกครั้ง 

          • สำหรับผู้ที่มีอาการในระดับรุนแรง แพทย์จะวินิจฉัยให้ทำการผ่าตัดผนังมดลูกหรือช่องคลอด เพื่อทำการยึดมดลูกไว้กับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ส่วนในรายที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้ว แพทย์ก็จะตัดมดลูกทิ้งไป หรืออาจจะต้องมีการผ่าตัดทำรีแพร์ หรือผ่าตัดเพื่อป้องกันปัสสาวะเล็ดร่วมด้วย 

วิธีป้องกันและวิธีแก้มดลูกหย่อน


การป้องกันมดลูกหย่อน สามารถทำได้ ดังนี้ 

          • คอยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ระวังอย่าให้มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ เพื่อไม่เป็นการเพิ่มแรงกดลงไปที่อุ้งเชิงกรานมากจนเกินไป 

          • ฝึกบริหารอุ้งเชิงกราน ขมิบช่องคลอดเป็นประจำ จะช่วยให้กล้ามเนื้อเชิงกรานกระชับ 

          • หลีกเลี่ยงการออกแรงยกของหนัก หาคนช่วย หรือใช้เครื่องทุนแงจะดีกว่า 

          • ไม่สูบบุหรี่ เพราะเสี่ยงจะทำให้มีอาหารไอเรื้อรัง และส่งผลให้กล้ามเนื้อที่อุ้งเชิงกรานอ่อนแอลง 

          • คอยดูแลอย่าให้ท้องผูกบ่อย เพราะการที่ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระ จะทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหดเกร็ง 

          • หากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ควรไปพบแพทย์เผื่อว่าจะต้องมีการใช้ฮอร์โมนทดแทน ซึ่งการใช้ฮอร์โมนทดแทนก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะต้องนำมาประกอบการตัดสินใจอีกที 

ไขข้อข้องใจเรื่องมดลูกหย่อนกับ Enfa Smart Club


จะรู้ได้อย่างไรว่ามดลูกหย่อน? 

คุณแม่และคุณผู้หญิงจะเริ่มรู้สึกว่ามดลูกหย่อนจากอาการดังต่อไปนี้ 

          • รู้สึกมีอาการหน่วง ๆ ที่บริเวณอุ้งเชิงกราน
          • รู้สึกปวดที่อุ้งเชิงกรานลามไปจนถึงบริเวณหลังส่วนล่าง
          • รู้สึกว่ามีบางอย่างหลุดออกมาทางช่องคลอด และต้องคอยดันกลับเข้าไปบ่อย ๆ
          • รู้สึกเจ็บเวลาที่มีเพศสัมพันธ์
          • มองเห็นเนื้อเยื่อโผล่ออกมาทางช่องคลอด
          • มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ
          • ปัสสาวะบ่อย หรือมีอาการปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้
          • มีอาการประเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย ๆ 

มดลูกหย่อนมีโอกาสหายไหม? 

หากมดลูกหย่อนยังไม่รุนแรงมากนัก การบริหารอุ้งเชิงกราน หรือการผ่าตัด สามารถรักษาให้หายได้ค่ะ แต่ถ้าอาการรุนแรงมาก ๆ แม้ว่าจะทำการรักษาไปแล้ว ก็อาจจะมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก โดยเฉพาะในรายที่มีอายุมาก หรือมีน้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ 

สมุนไพรแก้มดลูกหย่อนมีอะไรบ้าง? 

มีสมุนไพรหลายชนิดที่เชื่อว่ากันว่ามีสรรพคุณช่วยรักษามดลูกหย่อนตามแบบฉบับยาพื้นบ้านโบราณ เช่น 

          • ข่าหด
          • ว่านชักมดลูก
          • แก่นฝาง
          • รากสามสิบ
          • กวาวเครือขาว 

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาสมุนไพรอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนจะใช้ยาสมุนไพรใด ๆ ในการรักษาโรค 

มดลูกหย่อนเด็กสามารถเป็นได้ไหม? 

มดลูกหย่อนจะพบได้ในผู้หญิงหลังคลอดบุตร ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมาก และผู้หญิงที่มีอายุมาก หรือวัยทอง ดังนั้น จึงไม่พบในเด็กหรือผู้ที่อายุน้อย

แต่ถ้าหากอายุยังน้อย แล้วรู้สึกว่ามีอาการมดลูกหย่อน จริง ๆ แล้วอาจเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะปัสสาวะ หรือก้อนเนื้อในช่องคลอด แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยค่ะ 

วิธีทดสอบมดลูกหย่อน? 

หากมีอาหารคล้ายกับว่ามดลูกหย่อน ให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจภายในที่โรงพยาบาล โดยแพทย์อาจจะใช้วิธีทดสอบ ดังนี้ 

          • แพทย์จะนำอุปกรณ์ใส่เข้าไปในช่องคลอด จากนั้นจะทำการสัมผัสดูว่าหลังจากที่ใส่อุปกรณ์เข้าไปแล้ว มีก้อนโป่งนูนในช่องคลอดเกิดขึ้นหรือไม่ 

          • แพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยไอหรือออกแรงเบ่ง คล้ายกับตอนเบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะ วิธีนี้จะทดสอบว่ากล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานยังแข็งแรงอยู่หรือเปล่า 



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่หลังคลอด

บทความที่แนะนำ

lochia-postpartum-bleeding
perineal-tears-recovery-and-care
exercise-after-pregnancy
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner