ท้อง 18 สัปดาห์ อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

     • ท้อง 18 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 18
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 18 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 18 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 18 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ ต้องอัลตราซาวนด์หรือไม่
     • ท้อง 18 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

ท้อง 18 สัปดาห์ คุณแม่กำลังก้าวเข้าสู่สัปดาห์ที่สองของเดือนที่ 5 ในการตั้งครรภ์ค่ะ เรามาดูกันว่าอายุครรภ์ 18 สัปดาห์คุณแม่จะพบกับการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ทารกในครรภ์ตอนนี้มีพัฒนาการสำคัญอย่างไร ขอบอกเลยว่าช่วงสัปดาห์นี้คุณพ่อคุณแม่จะพบกับความมหัศจรรย์ของเจ้าตัวเล็กในครรภ์มากมายทีเดียวค่ะ


ช่วงอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ คุณแม่จะรู้สึกถึงการดิ้นของทารกในครรภ์ได้ชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็พ่วงมาด้วยอาการปวดหลังและปวดเมื่อยเนื้อตัว เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย

ทารกอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ เจริญเติบโตอยู่ในมดลูก และมีพัฒนาการต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยคุณแม่สามารถอัลตราซาวนด์เห็นทารกในครรภ์และเพศของทารกได้อย่างชัดเจน

อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือนกันนะ? แม่ท้อง 18 สัปดาห์ อายุครรภ์จะอยู่ที่ 4 เดือน กับอีก 2 สัปดาห์ค่ะ


ทารกอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ ระบบภายในร่างกายหลายอย่างจะเริ่มมีทำงานได้เกือบจะสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสาทการรับเสียงที่พัฒนาจนเกือบสมบูรณ์ และทารกเริ่มที่จะได้ยินเสียงต่าง ๆ รอบตัวได้แล้ว ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะมากค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่จะเริ่มอ่านหนังสือหรือเปิดเพลงให้ทารกฟังตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป

อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ราว ๆ 190 – 195 กรัมค่ะ

อาการลูกตอด จะให้ความรู้สึกเหมือนว่ามีบางอย่างกำลังเคลื่อนไหวอยู่ภายในท้อง รู้สึกว่ามีการกระตุกเบา ๆ เกิดขึ้นที่ท้อง และที่เรียกว่า ลูกตอด ไม่เรียกว่า ลูกดิ้น ก็เพราะการตอดนั้นจะเกิดขึ้นเบา ๆ และมีการเคลื่อนไหวไปมาจนแทบจับความรู้สึกไม่ได้ค่ะ แต่ถ้าลูกดิ้นนั้นคุณแม่จะรู้สึกและสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

ทารกในระยะนี้จะมีความยาวประมาณ 5.6 นิ้ว มีน้ำหนักประมาณ 190 - 195 กรัม หรือมีขนาดเท่ากับอาร์ติโชคค่ะ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ มีดังนี้

          • ระบบประสาทจะสร้างปลอกไขมันมาหุ้มใยประสาทต่าง ๆ และจะสร้างการเชื่อมโยงกันมากขึ้น

          • หูของทารกพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์ กระดูกชิ้นเล็ก ๆ ในหูชั้นกลางที่เป็นทางผ่านของเสียงเข้าสู่หูชั้นในแข็งขึ้น สามารถส่งสัญญาณการสั่นสะเทือนของเสียงได้ดีขึ้น หูชั้นในและเซลล์ประสาทในสมองส่วนที่รับรู้และส่งสัญญาณจากหูก็พัฒนาจนเกือบสมบูรณ์ จนอาจะเรียกได้ว่าประสาทสัมผัสการได้ยินของทารกเริ่มทำงานได้แล้วในช่วงอายุครรภ์ 18 สัปดาห์นี้

          • ใบหูยื่นออกมาจากศีรษะอย่างเห็นได้ชัด และค่อย ๆ ขยับมาอยู่ในตำแหน่งที่สมบูรณ์มากขึ้น ทำให้เขาสามารถได้ยินเสียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเขาได้แล้ว โดยเฉพาะเสียงหัวใจคุณแม่หรือเสียงท้องคุณแม่ร้อง

          • ทารกจะดิ้นแรงขึ้น จนคุณแม่สามารถรับรู้ถึงการดิ้นของทารกได้ชัดเจนมากขึ้นไปอีกในสัปดาห์นี้


การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วงนี้คือการดิ้นของทารกที่ชัดเจนมาก ชัดเจนสุด ๆ คือคุณแม่มีขนาดหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้นและคุณแม่ส่วนใหญ่สามารถสัมผัสการดิ้นของลูกได้ แต่ในกรณีที่สัมผัสได้น้อย หรือรู้สึกว่าลูกไม่ดิ้น อาจเกิดจากปัจจัยเหล่านี้

          • คุณแม่มีผนังหนาท้องหนา ก็อาจจะสัมผัสว่าลูกดิ้นเบา หรือดิ้นช้า หรือไม่รู้สึกว่าลูกดิ้น

          • หรือจริง ๆ แล้วลูกดิ้นอยู่ตลอดนั่นแหละ เพียงแต่ว่าคุณแม่ง่วนอยู่กับการทำกิจกรรม หรือเพลินกับการทำงานต่าง ๆ จึงทำให้ไม่ทันได้รู้ตัวว่าลูกกำลังดิ้น

          • หรือตอนที่ลูกดิ้น คุณแม่กำลังนอนหลับ ส่วนเวลาที่คุณแม่ตื่น ลูกกำลังนอนอยู่ ก็ทำให้จังหวะในการพบเจอลูกดิ้นคลาดเคลื่อนกันไป

ส่วนกรณีที่คุณแม่ซึ่งมีขนาดตัวเล็กแล้วกังวลเรื่องขนาดหน้าท้องของตนเองว่าทำไมท้องไม่ค่อยใหญ่เลย แบบนี้จะผิดปกติหรือเปล่านะ?

ต้องบอกว่าตามปกติแล้วหน้าท้องของคุณแม่ในช่วงอายุครรภ์ 4 เดือน ย่างเข้า 5 เดือนนี้ โดยมากแล้วคุณแม่มักจะมีขนาดหน้าท้องขยายใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจริงค่ะ

แต่...ถ้าคุณแม่เป็นคนตัวเล็ก ขนาดหน้าท้องก็จะเล็กตามไปด้วยตามสรีระของคุณแม่ จึงอาจไม่มีหน้าท้องนูนใหญ่เท่ากับคุณแม่ที่มีรูปร่างใหญ่ค่ะ

อย่างไรก็ตาม ขนาดท้องของแม่ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้สุขภาพของลูก หากไปตรวจครรภ์แล้วพบว่าทารกในท้องมีการเจริญเติบโตที่สมวัย ดิ้นตามปกติ อัตราการเต้นหัวใจปกติ มีขนาดปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลกับขนาดหน้าท้องแต่อย่างใดค่ะ


แม่ท้อง 18 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่สามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง


อาการคนท้อง 18 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

          • เนื่องจากน้ำหนักตัวและขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น การยืนหรือนั่งในท่าเดิมนาน ๆ อาจส่งวผลให้คุณแม่เป็นตะคริวที่ขาได้

          • คุณแม่อาจสังเกตเห็นเส้นเลือดขอดบริเวณขาชัดเจนมากขึ้น

          • คุณแม่บางคนอาจมีปัญหาเรื่องการนอน นอนไม่หลับ เพราะเริ่มรู้สึกอึดอัดกับท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นทุกวัน

          • คุณแม่อาจมีอาการปวดหลัง เนื่องจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นและกล้ามเนื้อที่ยืดออกอาจส่งผลต่อการรับน้ำหนักของอวัยวะช่วงหลัง

          • คุณแม่เริ่มมีอาการบวมเกิดขึ้น โดยอาจมีอาการบวมที่มือหรือเท้า

          • สามารถรู้สึกและสัมผัสการดิ้นของลูกน้อยได้อย่างชัดเจน


การอัลตราซาวนด์อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ จะเป็นการตรวจเพื่อดูว่าทารกเจริญเติบโตตามวัยหรือไม่ มีการตรวจดูอวัยวะต่าง ๆ ว่ามีครบตามช่วงวัยไหม รวมถึงการตรวจปริมาณน้ำคร่ำว่ามากเกินไปหรือน้อยเกินไป ตรวจตำแหน่งของรก และตรวจอัตราการเต้นหัวใจของทารกในครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่าทารกเจริญเติบโตได้ดี และไม่มีภาวะความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น


อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

อาการท้องแข็งมักจะพบได้ในไตรมาสสามของการตั้งครรภ์ หรือเริ่มสังเกตเห็นได้เมื่อมีอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งอาการท้องแข็งนั้น อาจมีสาเหตุมากจากสิ่งเหล่านี้

          • ทารกในครรภ์ดิ้นแรงหรือโก่งตัว

          • มดลูกเกิดการบีบรัดตัวขึ้นเองโดยหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้

          • การกินอาหารมากเกินไป หรือรู้สึกอิ่มมากจนเกินไป

โดยทั่วไปแล้วอาการท้องแข็งนั้นจะพบในช่วงไตรมาสที่สาม หรือช่วงใกล้คลอด มักไม่พบในช่วงไตรมาสสองของการตั้งครรภ์

ดังนั้น หากพบว่ามีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสอง ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ค่ะ

อาการปวดท้องน้อยในสัปดาห์นี้ไม่ถือว่าผิดปกติค่ะ อาจมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเพื่อรองรับมดลูกที่กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

แต่ถ้าหากมีอาการปวดท้องน้อยติดต่อกันหลายวันแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือปวดมากจนเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการแท้ง หรือภาวะความเสี่ยงอื่น ๆ ในขณะตั้งครรภ์ได้

คุณแม่ส่วนใหญ่สามารถรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้อย่างชัดเจนในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าไม่รู้สึกเลย ก็ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าผิดปกติค่ะ เพราะการที่ลูกไม่ดิ้น อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

          • ผนังหน้าท้องของคุณแม่อาจจะหนาจนสัมผัสการดิ้นของทารกได้ยาก

          • หรือช่วงที่ทารกดิ้นอาจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้ไม่รู้สึก

          • หรือตอนที่ทารกดิ้น คุณแม่นอนหลับ ตอนที่คุณแม่ตื่น ทารกหลับ ช่วงเวลาที่ลูกดิ้นจึงคลาดเคลื่อนไปจากการรับรู้ของคุณแม่

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ยังไม่ต้องคิดมากค่ะ เพราะหากที่อัลตราซาวนด์แล้วพบว่าทารกยังมีหัวใจเต้นตามปกติ และยังสามารถเคลื่อนไหวตามปกติ ก็ยังไม่มีอะไรต้องกังวล และอาจจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ค่ะ


คุณแม่อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened Abortion) คือ ความผิดปกติของการตั้งครรภ์ ที่สามารถพบได้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยแม่ที่มีภาวะแท้งคุกคามจะมีเลือดออกทางช่องคลอดในขณะที่ปากมดลูกยังไม่เปิด ซึ่งเลือดที่ไหลออกมานั้นอาจเป็นเลือดสีสด มูกเลือด หรือเลือดสีน้ำตาลก็ได้ ทั้งนี้ ภาวะแท้งคุกคาม เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

          • โครโมโซมผิดปกติ
          • ทารกพิการตั้งแต่ในครรภ์
          • มดลูกและโพรงมดลูกผิดปกติ
          • การได้รับยาหรือสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย
          • มีประวัติการแท้งบุตรมาก่อน
          • ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก
          • แม่ท้องมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

ภาวะแท้งคุกคาม จำเป็นจะต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะถือว่าเป็นภาวะการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ และเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้

ดังนั้น หากมีเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุว่าอาการเลือดออกนั้นมีที่มาจากอะไรกันแน่ ในกรณีที่เป็นสัญญาณของความผิดปกติ แพทย์จะได้ทำการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

คนท้องสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ทุกช่วงอายุครรภ์ค่ะ แต่เมื่อขนาดครรภ์ใหญ่ขึ้นท่าเซ็กซ์ควรจะลดความผาดโผนลง เพื่อลดความเสี่ยงของการกระทบกระเทือนกับครรภ์

พยายามให้คุณแม่เป็นฝ่ายควบคุมจังหวะอยู่ด้านบนด้วยตนเอง หรือท่าเซ็กซ์ในลักษณะที่นอนราบด้วยกันทั้งคู่ หรือมีการสอดใส่จากด้านหลัง หรือมีเซ็กซ์ในท่ายืน พยายามหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในลักษณะที่เสี่ยงจะกระทบกระเทือนกับหน้าท้องเป็นดีที่สุด

มากไปกว่านั้น ความรุนแรง พุ่งโหน โจนทะยานใด ๆ ที่เคยปฏิบัติกันมา ก็ขอให้ลดลง และกระทำกันด้วยความนุ่มนวล เพื่อป้องกันไม่ให้มีเลือดออก หรือเกิดการฉีกขาดของช่องคลอด และลดแรงกระแทกที่อาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์ได้ค่ะ

เมื่อมีอายุครรภ์ครบ 4 เดือน หรือตั้งท้องได้ 4 เดือนขึ้นไป คุณแม่ควรหาเวลาไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ในขณะตั้งครรภ์ อีกทั้งภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนยังสามารถส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ ช่วยลดอันตรายจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ในกรณีที่คุณแม่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่

อาการปวดท้องในขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุค่ะ ไม่ว่าจะเป็น

          • กินอาหารมากเกินไป
          • การขยายตัวของมดลูกและเส้นเอ็นที่อยู่รอบ ๆ มดลูก
          • มีอาการท้องผูก ท้องอืด
          • มีอาการกรดไหลย้อน

อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดท้องไม่ดีขึ้นเลย หรือปวดท้องติดต่อกันตั้งแต่ 1-3 วันขึ้นไป ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม

ช่วงเวลา 1,000 วันแรก คือช่วงเวลาที่นับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากที่คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก

หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน

โดยช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่

          • ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
          • ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
          • ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)


 ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ ปวดท้องน้อย อันตรายหรือไม่?

การปวดท้องน้อยในระยะนี้ไม่ถือว่าอันตรายเสียทีเดียวค่ะ เพราะอาจเกิดจากการขยายตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเพื่อรองรับมดลูกที่กำลังขยายตัว

แต่ถ้าหากมีอาการปวดท้องน้อยติดต่อกันหลายวันแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือปวดมากจนเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการแท้ง หรือภาวะความเสี่ยงอื่น ๆ ในขณะตั้งครรภ์ได้

 ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ อาหาร อะไรบ้างที่คุณแม่ควรรับประทาน?

แม่ท้อง 18 สัปดาห์ ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย ครบทั้ง 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ และต้องกินอาหารที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสที่มากับอาหาร มากไปกว่านั้น ยังควรเน้นสารอาหารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์ ดังนี้

พบได้มากในอาหารจำพวก ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

พบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

พบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

พบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

พบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

 ท้อง 18 สัปดาห์ ปวดหลัง บรรเทาอาการยังไงดี?

หากคุณแม่มีอาการปวดหลัง สามารถบรรเทาอาการปวดหลังได้ง่าย ๆ ดังนี้

          • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัวแทน

          • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายบ้าง เช่น การเดิน ปั่นจักรบาน โยคะ เพื่อช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ

          • เวลานอนให้ใช้หมอนรองที่หว่างขา หรือเอว หรือหลัง เพื่อลดแรงกดทับที่หลัง

          • ปรับเปลี่ยนอริยาบถให้เหมาะสม ไม่นั่งท่าเดิมนาน ๆ เปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ นั่งหลังตรง ไม่นั่งหลังงอ เพราะจะทำให้อาการปวดหลังแย่ลงได้

          • ทาครีมยาบรรเทาอาการปวดหลัง

          • ไปนวดกับแพทย์แผนไทยที่เชี่ยวชาญการนวดคนท้อง และควรแจ้งกับคนนวดทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์

          • กินยาบรรเทาอาการปวดตามที่แพทย์แนะนำ

 ท้อง 18 สัปดาห์ ลูกดิ้นบ่อยแค่ไหน?

ลูกดิ้นบ่อยมากน้อยแค่ไหนตอบได้ยากค่ะ เพราะปกติแล้วทารกจะดิ้นอยู่เรื่อย ๆ หรือดิ้นแบบไม่มีทิศทาง จึงยากที่จะสังเกตว่าลูกดิ้นมากหรือน้อย ส่วนการนับลูกดิ้นนั้น แพทย์จะให้เริ่มนับเมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ขึ้นไปค่ะ ช่วงนี้แหละที่คุณแม่ถึงจะเริ่มจับการดิ้นของลูกได้ว่าลูกดิ้นบ่อย หรือลูกดิ้นน้อยจนน่าเป็นกังวล

 ท้อง 18 สัปดาห์ ปวดท้องจี๊ด ๆ ต้องกังวลไหม?

อาการปวดท้องจี๊ด ๆ อาจมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของมดลูก หรือมดลูกขยายตัวมากดทับเกิดกระเพาะปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดท้องจี๊ด ๆ นี้เป็นติดต่อกัน 1-3 วัน หรือปวดจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง



น้ำนมเหลืองสั่งซื้อสินค้าออนไลน์สมัครสมาชิกใหม่