หลังผ่าคลอดดูแลตัวเองอย่างไร ให้แผลหายไว ร่างกายฟื้นฟูเร็ว






ในปัจจุบัน การผ่าคลอดได้เข้ามาเป็นอีกวิธีหนึ่งในการคลอดลูก คุณแม่หลายคนที่ได้รับการประเมินว่าควรผ่าคลอด จะต้องเตรียมความพร้อมร่างกายทั้งก่อน และหลังการผ่า โดยเฉพาะการดูแลตัวเองหลังผ่าคลอด ซึ่งมีข้อกำหนด และข้อหลีกเลี่ยงในการฟื้นตัว คุณแม่จึงจำเป็นต้องมีความรู้ และความเข้าใจ เพื่อดูแลตัวเองหลังผ่าคลอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ


หลังผ่าคลอดในช่วงแรก ๆ คุณแม่จะพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาล โดยหลังผ่าคลอดคุณแม่จะต้องงดน้ำ และอาหารประมาณ 12 – 24 ชั่วโมงแรกหลังได้เข้ารับการผ่าตัดแล้ว ในวันถัดมาจึงสามารถดื่ม หรือรับประทานอาหารเหลว และอาหารอ่อนได้ตามลำดับ ถัดจากนั้น จึงสามารถรับประทานอาหารปกติได้

โดยหลังการผ่าคลอด คุณแม่ควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อเสริมสร้าง และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายในข่วงระหว่างการผ่าคลอด นอกจากนี้ น้ำ ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรดื่มให้เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ ซึ่งยังมีส่วนช่วยในการผลิตน้ำนมของคุณแม่อีกด้วย

เสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กผ่าคลอดอย่างไร เพื่อเด็กผ่าคลอดเริ่มต้นดีต้องมีครบ 3

คุณแม่ทราบหรือไม่ว่า การผ่าคลอด (C-Section) คือ การผ่าตัดโดยนำทารกออกมาผ่าทางหน้าท้อง จึงทำให้ทารกไม่ได้รับจุลินทรีย์สุขภาพ (Gut Microbiome) จากบริเวณช่องคลอดของแม่ ซึ่งทำให้เด็กผ่าคลอดอาจมีพัฒนาการภูมิคุ้มกันแรกเกิด และสุขภาพลำไส้ช้ากว่าเด็กที่คลอดแบบธรรมชาติ ส่งผลให้มีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น

Cs-Biome หรือ Commensal Microbiome​

คือ ดีเอ็นเอของกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดีที่อยู่รวมกัน เช่นบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และ แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ที่พบในน้ำนมแม่ มีส่วนช่วยทำให้ผนังลำไส้แข็งแรง พัฒนาระบบทางเดินอาหาร ทำให้ลูกขับถ่ายดี เสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง นอกจากนี้ MFGM และ DHA ในนมแม่ยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างพัฒนาการสมองในช่วงเริ่มต้นของชีวิต​


หลังผ่าคลอดไม่อยากแผลหายช้า แผลอักเสบ แม่และคนใกล้ชิดควรเรียนรู้วิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าคลอด เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ กลับคืนสู่สภาพปกติ ฟื้้นตัวได้เร็ว และพร้อมปรับตัวเข้าสู่บทบาทความเป็นแม่อย่างเต็มที่นะคะ

เอนฟามีเคล็ดลับดี ๆ ในการเตรียมความพร้อมสำหรับแม่ที่จะผ่าคลอด เพื่อลดความตื่นเต้น และป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นคุณแม่ต้องเตรียมตัวตามนี้เลยนะคะ​

          1. หลังจากการผ่าตัดในวันแรก ๆ คุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนอริยาบถได้ ด้วยการลุกนั่ง ลุกเดินใกล้ ๆ เพื่อช่วยให้ลำไส้กลับมาทำงานได้เร็ว ทำให้ไม่ท้องอืด และลดการเกิดพังผืดในช่องท้อง รวมทั้งป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตัน การเดินในช่วงแรก ๆ อาจจะยังไม่สามารถเดินได้ตามความเร็วปกติ และอาจจะมีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือหายใจถี่ได้

          2. สายสวนปัสสาวะจะสามารถถอดได้หลังการผ่าตัด 12 – 24 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้น คุณแม่สามารถเดินเข้าห้องน้ำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการปัสสาวะหลังนำสายสวนออกแล้ว อาจจะทำให้เกิดอาการแสบ หรือเจ็บในบางครั้ง สามารถขอแนะนำวิธีการขับถ่ายที่ลดการเจ็บปวดจากพยาบาล หรือผู้ช่วยได้

          3. ห้ามไม่ให้แผลผ่าคลอดถูกน้ำประมาณ 7 วัน หากเย็บแผลด้วยไหมละลายไม่ต้องตัดไหม แต่หากเย็บด้วยไหมธรรมดา ควรตัดไหมเมื่อครบ 7 วัน

          4. การผ่าคลอดอาจจะทำให้คุณแม่มีอาการปวดแผลชั่วคราว การรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลไข้ ว่าสามารถรับประทานยาแก้ปวดชนิดไหนได้บ้าง รวมทั้งยาที่ต้องรับประทานระหว่าง และหลังออกจากโรงพยาบาล ในคุณแม่ที่ให้นมลูก ควรสอบถามถึงผลข้างเคียงของยา หรือการเลี่ยงใช้ยาชนิดไหนประกอบร่วมด้วย เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยที่ดื่มนมแม่

          5. หลังการผ่าคลอด มดลูกจะค่อย ๆ เริ่มหดตัวลงให้มีขนาดเท่าเดิมก่อนตั้งครรภ์ นอกจากนี้มดลูกจะขับน้ำคาวปลาออกมาตามปกติประมาณ 4 – 6 สัปดาห์หลังการผ่าคลอด ซึ่งระยะเวลาขึ้นอยู่ตามแต่ละบุคคล โดยคุณแม่ควรใช้ผ้าอนามัยชนิดดูดซับพิเศษ และไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอด หรือแบบถ้วยในช่วงเวลานี้


เมื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกจากโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว และแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านไปพักฟื้นได้ การดูแลสุขภาพหลังกลับมาพักฟื้นที่บ้านสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด มีข้อแนะนำ ดังนี้

          1. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรงจำนวนมาก เช่น การยกของหนักกว่าน้ำหนักลูก หลีกเลี่ยงการทำงานบ้างบางชนิด การเดินขึ้น – ลง บันไดถี่ หรือบ่อยครั้ง

          2. ดื่มน้ำให้เพียง และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่ผ่านการปรุงสุก และผ่านกรรมวิธีที่สะอาด

          3. ควรจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ และอาหารไว้ใกล้ตัว เพื่อเลี่ยงการเดินบ่อยครั้ง

          4. หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ มีน้ำ หรือเลือดออกจากแผลผ่าตัด ปวดแผลมากขึ้นกว่าปกติ แผลบวมแดง มีหนอง มีน้ำคาวปลาออกมาปริมาณมากขึ้นกว่าปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน


การดูแลรักษาแผลผ่าคลอดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด ที่ต้องใส่ใจ และหมั่นดูแลจนกว่าแผลจะสมานตัว และหายเป็นปกติ โดยในช่วงหลังผ่าคลอด 7 วันแรก ไม่ควรให้แผลโดนน้ำ และหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่อาจจะทำให้แผลฉีกขาดได้ง่าย นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ก็ช่วยให้ร่างกายนำสารอาหารไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้

ระยะเวลาที่แผลผ่าคลอดจะหาย และสมานเป็นปกติ อาจจะใช้เวลาแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ คุณแม่สามารถดูแลแผลผ่าคลอดได้ง่าย ๆ ดังนี้

ทำความสะอาดด้วยการล้างน้ำ และสบู่อ่อน ๆ บริเวณแผลเบา ๆ ในระหว่างอาบน้ำทุกวัน หลังจากนั้นซับให้แห้ง หากคุณแม่ต้องการทาผลิตภัณฑ์จำพวกครีมทาลดรอย หรือเพื่อปลอบประโลมผิวบริเวณแผลผ่าคลอด ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสำหรับคำแนะนำในการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้

คุณแม่ควรเลี่ยงการออกกำลังกาย และการเคลื่อนไหว เช่น การก้ม งอตัว บิดเอว พลิกตัวไปมาบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการฉีกขาดของแผลผ่าคลอด รวมทั้งจะทำให้แผลสมานตัวช้า

หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่คับแน่น และกดทับบริเวณบาดแผล รวมทั้งการสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ยาก จะทำให้บาดแผลผ่าคลอดหายได้ช้า

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรืออาหารครบ 5 หมู่ มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าคลอด รวมทั้งแผลผ่าคลอกอีกด้วย นอกจากการดูแลตัวเองหลังผ่าคลอดแล้ว การไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจเช็กอาการก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่คุณแม่ไม่ควรเลี่ยง หรือผิดนัด

เพื่อให้แผลผ่าคลอดหายไว และสมานตัวได้เร็ว การดูแลตัวเองตามคำแนะนำเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรปฏิบัติ นอกจากนี้ การติดตามผลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเลี่ยง หรือผิดนัด เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจดูบาดแผลให้แน่ชัดว่า สมานตัวได้ดี และไม่มีปัญหาการติดเชื้อตามมา หากคุณแม่มีข้อสงสัยในการรักษารอยผ่าคลอด ก็สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เช่นกัน


หลังจากการผ่าคลอดวันแรก เมื่อได้รับการถอดสายสวนปัสสาวะแล้ว คุณแม่สามารถเดินในระยะใกล้ ๆ ได้ การเดินระยะสั้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนอิริยาบถจะช่วยให้ลำไส้ของคุณแม่กลับมาทำงานได้เร็วขึ้น ท้องไม่อืด ลดการเกิดพังผืดในช่องท้อง และป้องกันการภาวะลิ่มเลือดอุดตัน โดยเน้นการเดินช้า ๆ ไม่เปลี่ยนท่าทางแบบฉับไวเพื่อป้องกันการฉีกขาดของบาดแผล

ทั้งนี้ คุณแม่ที่เข้ารับการผ่าคลอด จะใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 3 – 4 วัน หรือหากแพทย์ตรวจดูแล้วไม่พบภาวะแทรกซ้อนก็สามารถออกจากโรงพยาบาลไปพักฟื้นที่บ้านต่อได้ ซึ่งโดยปกติแล้วแผลผ่าคลอดของคุณแม่จะหายดีประมาณ 2 – 4 สัปดาห์


แน่นอนว่าการผ่าคลอด จะทำให้คุณแม่มีอาการปวด หรือเจ็บแผลผ่า โดยช่วง 24 ชั่วโมงแรกคุณแม่จะได้รับยาแก้ปวดฉีดเข้าหลอดเลือด หรือกล้ามเนื้อ หลังจากนั้นจะได้รับยาแก้ปวดชนิดรับประทาน ซึ่งจะช่วยทุเลาอาการเจ็บ หรือปวดแผลได้บ้าง หากคุณแม่ต้องการลุกเดิน ลงจากเตียง ควรค่อย ๆ ปรับเปลียนอิริยบถช้า ๆ ก่อนจะลงจากเตียง จะช่วยลดอาการเจ็บแผล และป้องกันการฉีกขาดของบาดแผลได้


การนอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ผ่าคลอดเป็นอย่างมาก เนื่องจากจำเป็นต้องพักฟื้นร่างกายให้หายจากการผ่าคลอด และยังเป็นเรื่องยากสำหรับคุณแม่ ที่ต้องหาท่านอนที่สบายตัวหลังการผ่าตัดอีกเช่นกัน แล้วคุณแม่ผ่าคลอดนอนท่าไหนดี คุณแม่ควรเลือกท่านอนที่ไม่กดทับแผลผ่า เช่น

คุณแม่สามารถนอนหงายหลังได้ โดยอาจจะใช้หมอนหนุนบริเวณขา เพื่อเพิ่มความสบายตัวยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้ผ้า หรือหมอนหนุนเพิ่มบริเวณเขา และบริเวณแขนได้อีกเช่นกัน

ระหว่างที่พักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาล คุณแม่สามารถปรับเตียงคนไข้ให้ยกสูงได้ตามความต้องการ ซึ่งยังสามารถนอนหลับในท่านี้ได้อีกเช่นกัน หรือใช้หมอนหนุนศีรษะ และหลังเพื่อให้ท่านอนของคุณแม่สบายขึ้น นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถปรับเป็นท่านั่งได้ หากรู้สึกสบายตัวในท่านั้น

การนอนตะแคงด้านข้าง ยังเป็นอีกท่านอนที่คุณแม่ผ่าคลอดใช้ท่านี้นอนได้ แต่ควรหาหมอนหนุนระหว่างช่วงขา เพื่อไม่ให้กดทับบาดแผลเกินไป


การอยู่ไฟ เป็นศาสตร์การแพทย์แผนไทยโบราณ โดยการอยู่ไฟจะช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายคุณแม่หลังคลอด ช่วยให้มดลูกเข้าอุ่ ขับน้ำคาวปลา และยังช่วยให้คุณแม่ไม่มีอาการหนาวสะท้าน สำหรับคุณแม่ผ่าคลอดแล้ว อาจจะมีคำถาม ผ่าคลอดต้องอยู่ไฟไหม หรือสามารถอยู่ไฟได้ไหม คำตอบคือได้ค่ะ

คุณแม่สามารถอยู่ไฟหลังผ่าคลอดได้ โดยสามารถอยู่ไฟในช่วงหลังคลอดเกิน 1 เดือนไปแล้ว หรือในช่วงที่แผลผ่าคลอดหายดีแล้ว แต่ไม่เกิน 3 เดือน หลังจากการผ่าคลอด และควรอยู่ไฟทุกวันติดต่อกันไม่เกิน 1 เดือน


สำหรับคุณแม่สายสปอร์ต หรือคุณแม่ที่เคยออกกำลังกายเป็นประจำในช่วงก่อนตั้งครรภ์ และขณะตั้งครรภ์ อาจจะมีคำถามตามมาว่าผ่าคลอดกี่วันออกกำลังกายได้ ในช่วงหลังการผ่าคลอดแรก ๆ คุณแม่ควรงดการออกกำลังกายไปก่อน ควรรอให้แผลสมานตัว และหายดี โดยอาจจะใช้เวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์หลังการผ่าคลอด นอกจากนี้คุณแม่ควรปรึกษากับผู้เชี่ยว ว่าช่วงไหนที่สามารถออกกำลังได้แล้ว โดยแพทย์จะประเมินสภาพร่างกายคุณแม่ว่าพร้อมสำหรับการออกกำลังกายแล้วหรือไม่


คุณแม่ที่เข้ารับการผ่าคลอด สามารถอาบน้ำและสระผมได้ตามปกติ หลังจากผ่านการผ่าคลอดไปแล้วประมาณ 7 วัน เนื่องจาก 7 วันแรกหลังการผ่าคลอดนั้น ห้ามไม่ให้แผลผ่าคลอดโดนน้ำ หรือจนกว่าแพทย์จะอนุญาตให้แผลโดนน้ำได้

อยากรู้ว่าวันไหนฤกษ์ดีสำหรับการผ่าคลอด เราได้รวบรวมฤกษ์ผ่าคลอด 2567 พยากรณ์โดย การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ (การะเกต์พยากรณ์) มาดูฤกษ์ผ่าคลอดฟรีได้ที่นี่ ฤกษ์ผ่าคลอด 2567


หลังจากการคลอดลูก มดลูกจะเริ่มหดตัวกลับเข้าสู่ขนาดปกติก่อนการตั้งครรภ์ และจะขับสิ่งที่เรียกว่า “น้ำคาวปลา” ออกมา โดยจะใช้เวลาประมาณ 4 – 6 สัปดาห์หลังการผ่าคลอด ทั้งนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน ในบางรายอาจจะหมดเร็ว หรือบางรายอาจจะหมดช้า

สำหรับการมีประจำเดือนหลังการคลอดนั้น เป็นเรื่องที่ระบุแน่ชัดได้ยาก เนื่องจากขึ้นอยู่กับร่างกายของคุณแม่ละคน โดยคุณแม่ที่ให้นมจากเต้า สลับกับการให้นมจากขวดประจำเดือนคุณแม่จะกลับมาอย่างเร็วที่สุดประมาณ 5 – 6 สัปดาห์หลังการคลอด

แต่หากคุณแม่ให้นมแม่จากเต้าเพียงอย่างเดียว ไม่ใช้ขวดนม หรือจุก รวมทั้งให้ลูกเข้าเต้าในมื้อดึกเป็นประจำ ประจำเดือนของคุณแม่จะกลับมาก็ต่อเมื่อ คุณแม่หยุดให้ลูกเข้าเต้ามื้อดึก เนื่องจากฮอร์โมนที่ใช้ในการผลิตน้ำนมไปหยุดการทำงานของฮอร์โมนที่ใช้ในการควบคุมประจำเดือน


สำหรับการมีเพศสัมพันธ์หลังผ่าคลอด จะต้องรอให้ผ่านพ้นไปประมาณ 4 – 6 สัปดาห์หลังการผ่าคลอด ถึงจะสามารถทำกิจกรรมนี้ได้ เนื่องจากจะต้องรอให้แผลผ่าคลอดสมานตัวดีกันเสียก่อน นอกจากนี้ อาจจะต้องรอให้น้ำคาวปลาขับหมดก่อนอีกด้วย ซึ่งระยะเวลาในการฟื้นตัว และการขับน้ำคาวปลาของคุณแม่แต่ละคนมีความแตกต่างกันไป คุณแม่ยังสามารถปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำในการมีเพศสัมพันธ์หลังการผ่าคลอดได้อีกเช่นกัน


ภายหลังการผ่าคลอด ขนาดหน้าท้องของคุณแม่ อาจจะยังไม่กลับไปเท่าขนาดหน้าท้องเดิมในช่วงก่อนตั้งครรภ์โดยทันที ทั้งนี้ คุณแม่ก็อย่างพึ่งกังวลไป หน้าท้องของคุณแม่จะค่อย ๆ ยุบลงหลังจากการผ่าคลอด ซึ่งอาจจะใช้เวลา 6 สัปดาห์ขึ้นไป หรือในบางรายอาจจะใช้เวลามากกว่านั้น

นอกจากนี้ การออกกำลังกาย ก็ยังสามารถช่วยให้หน้าท้องหลังคลอดยุบลงได้เช่นกัน แต่คุณแม่ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะเริ่มออกกำลังกาย ว่าร่างกายของคุณแม่พร้อมสำหรับการออกกำลังกายแล้วหรือยัง อีกทั้งการรับประทานอาหารที่เหมาะสม และมีประโยชน์ก็มีส่วนช่วยเช่นกัน


อาการท้องอืดหลังผ่าคลอด เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคน โดยอาการท้องอืดหลังการคลอดลูกเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ผลข้างเคียงจากอาการท้องผูกหลังผ่าคลอด การรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะ ภาวะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อน นอกจากนี้ การผ่าคลอดยังสามารถทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ เนื่องจากการผ่าตัดจะทำให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนตัวช้า

อย่างไรด็ตาม ถึงแม้อาการท้องอืดหลังผ่าคลอด จะเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่หากมีอาการร่วม เช่น ปวดท้องมากกว่าปกติ ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ หรือมีอาการท้องอืดเป็นเวลานาน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการวินิจฉัยอาการ และรักษาต่อไป


อาการปวดหลัง นอกจากจะเกิดขึ้นในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์แล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นได้หลังการผ่าคลอดอีกด้วย โดยอาการปวดหลังมักเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังเข้ารับการผ่าคลอด และอาการปวดอาจจะต่อเนื่องยาวไปเป็นวัน ยาวเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ซึ่งอาการปวดหลังนี้ เกิดได้ขึ้นจากสาเหตุเหล่านี้ ได้แก่

ในช่วงตั้งครรภ์ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอย่าง “แลกซิน” ออกมา โดยฮอร์โมนชนิดนี้ จะทำให้ข้อต่อ หรือเอ็น บริเวณกระดูกเชิงกรานคลายตัว เพื่อให้ง่ายต่อการเบ่งลูก ซึ่งเมื่อข้อต่อ หรือเอ็นเกิดการคลายตัว และหลวม ก็ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังได้

หากคุณแม่มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์ ทำให้กระดูสันหลังต้องรองรับน้ำที่มากขึ้น จนนำไปสู่อาการปวดหลัง ซึ่งอาจจะมีอาการยาวไปจนถึงหลังคลอด

บางครั้งอาการปวดหลังหลังการผ่าคลอดอาจจะเกิดจากกิจวัตรประจำวันอย่าง การอุ้มลูก และการยกของ คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนท่าในการยกของ หรืออุ้มลูก โดยให้ตั้งหลังตรง และเน้นใช้ขารับน้ำหนักแทนหลัง เพื่อให้หลังเลี่ยงการรับน้ำหนักจากการยก หรืออุ้มที่จะเกิดขึ้น

สำหรับคุณแม่ที่ให้นมจากเต้า การให้นมด้วยท่าเดิม เป็นเวลานาน อาจจะทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนท่าให้นม โดยอาจจะใช้หมอนหนุนหลัง รวมทั้งหนุนช่วงแขนเพื่อซัพพอร์ตสรีระแม่ให้สบายมากขึ้น

สำหรับคุณแม่ที่ใช้ยาระงับความรู้สึกในระหว่างการผ่าคลอด ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาทางช่องเหนือไขสันหลัง (Epidural Block) หรือทางช่องน้ำไขสันหลัง (Spinal Block) อาจจะมีอาการปวดหลังชั่วคราวบริเวณที่เข็มฉีดเข้าไป โดยอาการจะหายไปเองไม่กี่วัน สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการประคบร้อน - เย็น รวมทั้งการพักผ่อนให้เพียงพอก็สามารถช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน

อาการปวดหลังหลังผ่าคลอด เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคน ไม่เป็นอันตราย และอาการไม่ได้คงอยู่ระยะยาว หากพบว่าอาการปวดหลังไม่ได้ดีขึ้น หรือแย่ลง คุณแม่สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดหลังได้เช่นกัน


หากคุณแม่พบอาการเหล่านี้หลังการผ่าคลอด เช่น มีไข้ มีน้ำ หรือเลือดออกจากบริเวณแผลผ่าตัด มีอาการปวดแผลมากขึ้นกว่าเดิม หรือแผลมีอาการบวมแดง มีน้ำคาวปลาออกมาในปริมาณที่มากขึ้นจากเดิม หรือยาวนานมากกว่า 2 สัปดาห์ คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ และทำการรักษาต่อไป

อยากรู้ว่าวันไหนฤกษ์ดีสำหรับการผ่าคลอด เราได้รวบรวมฤกษ์ผ่าคลอด 2567 ฤกษ์ดีปีมังกรทอง วันไหนดี วันไหนมงคล มาดูฤกษ์ผ่าคลอดฟรี 2567 พยากรณ์โดย การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ (การะเกต์พยากรณ์) มาดูฤกษ์ผ่าคลอดฟรีได้ที่นี่


นอกจากการเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าคลอดจะเป็นสิ่งที่ดีกับคุณแม่แล้ว การดูแลตัวเองหลังผ่าคลอดก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เรามีเคล็ดลับดี ๆ สำหรับคุณแม่ผ่าคลอดในการดูแลตัวเองมากฝากกัน

ไม่ว่าจะก่อนการผ่าคลอด หรือหลังการผ่าคลอดก็ตาม การนอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญสำหรับร่างกายของคุณแม่อย่างมาก

ในช่วงแรกหลังการผ่าคลอด คุณแม่ไม่ควรยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากกว่าตัวลูกน้อย เพื่อป้องกันแผลผ่าคลอดฉีกขาด รวมไปถึงอาการปวดหลังหลังผ่าคลอดอีกด้วย

ถึงแม้ว่าคุณแม่จะยังไม่สามารถออกกำลังกายหลังผ่าคลอดได้ จนกว่าแผลผ่าจะหาย หรือแพทย์อนุญาตเห็นควรแล้ว การเดินในระยะใกล้ ๆ เคลื่อนไหวร่างกายเบา ๆ ก็มีส่วนช่วยในการฟื้นตัวร่างกาย

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และครบ 5 หมู่ จะช่วยให้ร่างกายได้รับการซ่อมแซม และฟื้นฟูร่างกายได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ สารอาหารต่าง ๆ ยังมีส่วนช่วยในการผลิตน้ำนมให้กับคุณแม่อีกด้วย ซึ่งน้ำนมแม่ มีสารอาหารสำคัญอย่าง Lactoferrin และ MFGM มีส่วนช่วยในการเสริมภูมิคุ้มกันของลูก

หมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ ในแต่ละวันหลังการผ่าคลอด ไม่ว่าจะเป็น อาการปวด ไข้ รวมไปถึงอาการอื่น ๆ ว่าผิดปกติหรือไม่ หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด



หลังการผ่าคลอด คุณแม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ควรระวังไม่ให้แผลผ่าคลอดเกิดการฉีกขาด หรืออักเสบ ทั้งนี้ หลังการผ่าคลอดในวันแรก คุณแม่อาจจะยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากนัก เนื่องจากแผลยังไม่สมานตัวดี รวมทั้งยังมีสายสวนปัสสาวะติดอยู่ ควรรอให้ถอดออกเสียก่อน โดยในช่วงแรก ๆ คุณแม่สามารถเดินในระยะใกล้ หรือเข้าห้องน้ำได้


หลังจาการผ่าคลอด มดลูกจะค่อย ๆ เริ่มปรับสภาพให้กลับไปอยู่ในขนาดเดิม หรือมดลูกเข้าอู่ ซึ่งอาจจะทำให้คุณแม่รู้สึกปวดมดลูกได้ในบางครั้ง โดยมดลูกจะใช้เวลาในการเข้าอู่ หรือหดตัวกลับสู่สภาพเดิมประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ การที่จะทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว คุณแม่ควรดูแลรักษาสุขภาพร่างกายตามปกติ เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดความเครียด เคลื่อนไหวร่างกาย ก็จะช่วยให้มดลูกคุณแม่เข้าอู่ได้เร็วขึ้น


ในคุณแม่บางรายที่ทำการผ่าคลอด อาจจะตัดสินใจที่จะทำหมันร่วมด้วยไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งการดูแลตัวเองหลังผ่าคลอด และทำหมัน ไม่ได้มีความแตกต่างกัน คุณแม่สามารถดูแลตัวเองหลังผ่าคลอด และทำหมันด้วยวิธีเดียวกันได้ ไม่ว่าจะเป็น การพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลและสังเกตุแผลผ่าคลอด จนไปถึงการเคลื่อนไหวร่างกาย เหล่านี้จะช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวจากการผ่าตัดทั้งสองได้อย่างปกติ

ทั้งนี้ ในคุณแม่บางราย อาจจะมีภาวะรู้สึกผิด หรือเสียใจหลังจากการทำหมัน หากความรู้สึกเหล่านี้ไม่ได้หายจากไป ควรเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เพื่อหาทางออกจากความรู้สึก หรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับสภาพจิตใจที่กำลังประสบอยู่


หลังการผ่าคลอด จะสามารถกลับไปมีเพศสัมพันธ์ได้ในช่วงที่ผ่านพ้นไปแล้วประมาณ 4 – 6 สัปดาห์หลังการผ่าคลอด เนื่องจากจะต้องรอให้แผลผ่าคลอดหายดี และน้ำคาวปลาหมดเสียก่อน ทั้งนี้คุณแม่สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสำหรับคำแนะนำในเรื่องนี้ได้เช่นกัน


หลังการผ่าคลอด คุณแม่ไม่ควรยกของหนัก หรือของที่มีน้ำหนักมากกว่าตัวลูก เนื่องจากอาจจะทำให้แผลผ่าคลอดเกิดการฉีกขาด หรือสมานตัวได้ช้า นอกจากนี้ อาจจะทำให้คุณแม่มีอาการปวดหลังได้อีกด้วย


โดยปกติแล้ว ร่างกายมีการขับน้ำคาวปลาหลังการคลอดลูกตามธรรมชาติ และกลไลของร่างกายอยู่แล้ว การกินยาขับน้ำคาวปลา อาจจะสร้างความเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอด จนทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย นอกจากนี้ยาขับน้ำคาวปลา ยังมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ซึ่งไม่ดีสำหรับน้ำนมคุณแม่ หากลูกน้ำได้รับแอลกอฮอล์ผ่านทางน้ำนมแม่ไป จะส่งผลให้ลูกน้อยมีอาการซึม หลับใหล และไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่ดีพอ


หากคุณแม่พบว่า ไหมผ่าคลอดละลายไม่หมด ควรกลับไปพบแพทย์เพื่อทำการคีบออก


คุณแม่ผ่าคลอดสามารถตั้งท้องใหม่ได้อีกครั้ง โดยควรรอหลังจากการผ่าคลอดไปแล้วอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ในผู้เชี่ยวชาญบางรายแนะนำให้รอประมาณ 12 – 24 เดือน ทั้งนี้ คุณแม่ควรปรึกษาสูตินารีแพทย์ หากต้องการตั้งท้องหลังการผ่าคลอด เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ที่เหมาะสม และปลอดภัย



น้ำนมเหลืองสั่งซื้อสินค้าออนไลน์สมัครสมาชิกใหม่