ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
fetal-development-week-by-week

พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ลูกน้อยเปลี่ยนไปยังไงบ้างนะ

Enfa สรุปให้

  • พัฒนาการทารกในครรภ์มาสแรก จะเป็นช่วงระยะตัวอ่อน ทารกเริ่มสร้างเซลล์อวัยวะ และระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย
  • พัฒนาการทารกในครรภ์ไตรมาสสอง ทารกเริ่มมีรูปร่างเหมือนทารกแรกเกิดมากขึ้น สามารถมองเห็นเพศและอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน
  • พัฒนาการทารกในครรภ์ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายของทารกพัฒนาจนสมบูรณ์แล้ว ทารกเริ่มกลับหัวลงสู่อุ้งเชิงกราน พร้อมที่จะทำการคลอด

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1
     • พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 2
     • พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 3

ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน หรือราว ๆ 36-37 สัปดาห์ มีการเปลี่ยนแปลงภายในท้องของคุณแม่อยู่ตลอดเวลา จากตัวอ่อนตัวน้อย ๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นทารกเต็มวัย Enfa จะพาคุณแม่ ๆ มารีแคปพัฒนาการทารกในครรภ์ ตั้งแต่สัปดาห์แรกไปจนถึงกำหนดคลอดกันค่ะ มาไล่เช็กลิสต์ดูกันว่า ในแต่ละสัปดาห์นั้น ลูกน้อยมีพัฒนาการเป็นอย่างไรบ้างนะ

พัฒนาการทารกในครรภ์ สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจ

พัฒนาการลูกในครรภ์ ไม่ได้เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อคุณแม่ตรวจพบการตั้งครรภ์นะคะ แต่จะเริ่มกระบวนการทันทีหลังจากที่พ่อกับแม่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันในวันไข่ตกและมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น

เมื่อไข่ที่ปฏิสนธิแล้วได้ย้ายมาฝังตัวที่โพรงมดลูก ก็จะค่อย ๆ พัฒนาเซลล์เป็นตัวอ่อน เริ่มสร้างระบบร่างกายและอวัยวะทีละน้อย จนกระทั่งระบบทุกอย่างสมบูรณ์พร้อมที่จะลืมตาออกมาดูโลก พัฒนาการทารกในครรภ์นี้จะใช้เวลาราว ๆ 37-40 สัปดาห์โดยประมาณ

ซึ่งหากทารกไม่ได้เกิดความผิดปกติใด ๆ ขณะอยู่ในครรภ์ พัฒนาการลูกในครรภ์ จะค่อย ๆ เป็นไปตามลำดับอายุครรภ์อย่างที่ควรจะเป็น เริ่มมีแขนขา มีดวงตา เริ่มดิ้นได้ เริ่มหัวใจเต้น เริ่มตรวจพบเพศ ไปจนถึงพร้อมที่จะคลอดออกมาดูโลก

พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ และรูปพัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์  

พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ จะมีลำดับพัฒนาการเจริญเติบโตเริ่มต้นตั้งแต่การปฏิสนธิ ไล่ไปจนถึงกำหนดคลอดของทารก ดังนี้ 

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 พัฒนาการทารกในครรภ์เป็นอย่างไร


ตั้งครรภ์ 1 เดือน

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 สัปดาห์

ร่างกายของคุณแม่เริ่มปล่อยฮอร์โมนออกมาที่เยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อเตรียมมดลูกให้พร้อมสำหรับการฝังตัวอ่อน

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 2 สัปดาห์

รังไข่จะเข้าสู่กระบวนการตกไข่ ปล่อยไข่ที่สุกแล้วหนึ่งใบออกมาเพื่อพบกับอสุจิและเกิดการปฏิสนธิ

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 3 สัปดาห์

หากโชคดี ทุกอย่างลงตัว ในที่สุดไข่กับอสุจิก็ได้มาพบกัน เกิดการปฏิสนธิกัน ไข่กับอสุจิเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน และเริ่มสร้างไซโกต มดลูกเริ่มปล่อยฮอร์โมน hCG หรือฮอร์โมนการตั้งครรภ์ออกมา

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 4 สัปดาห์

ตัวอ่อนกลายเป็นเอ็มบริโอและฝังตัวลงในเยื่อบุมดลูก พร้อมกับเริ่มกระบวนการสร้างถุงน้ำคร่ำและรก

ตั้งครรภ์ 2 เดือน

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 5 สัปดาห์

ตัวอ่อนเริ่มมีการสร้างไขสันหลัง กล้ามเนื้อ เส้นประสาท หลอดหัวใจเริ่มมีการเต้นเล็กน้อย และระบบไหลเวียนโลหิตก็เริ่มก่อตัวขึ้นด้วยเช่นกัน ในสัปดาห์นี้ตัวอ่อนจะมีลักษณะคล้ายกับลูกอ๊อด

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 6 สัปดาห์

ดวงตา แขน และขาขนาดเล็ก ๆ เริ่มมีการก่อตัวขึ้น เซลล์เม็ดเลือดและระบบการไหลเวียนโลหิตเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง หู ตา และปากก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นทีละน้อย

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 7 สัปดาห์

สัปดาห์นี้ตัวอ่อนมีขนาดใหญ่ขึ้น มองดูคล้ายลูกอ๊อดตัวใหญ่ หรือม้าน้ำเพราะตัวอ่อนในระยะนี้ยังมีหางอยู่ กระดูกและอวัยวะเพศเริ่มก่อตัว มีมือและเท้าเล็ก ๆ คล้ายไม้พายเริ่มงอกออกมา

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 8 สัปดาห์

ตัวอ่อนเริ่มมีการเคลื่อนไหวได้บ้างแล้ว แต่คุณแม่จะยังไม่สามารถสัมผัสถึงความรู้สึกนั้นได้ โดยระบบอวัยวะและระบบร่างกายหลัก ๆ ถูกสร้างขึ้นจนเกือบครบแล้ว สายสะดือพัฒนาจนสมบูรณ์พร้อมที่จะลำเลียงออกซิเจนและเลือดไปยังตัวอ่อน

ตั้งครรภ์ 3 เดือน

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 สัปดาห์

เริ่มมีการสร้างระบบกล้ามเนื้อ ฟัน ต่อมรับรส และติ่งหู ขณะที่ระบบหัวใจก็เริ่มเต้นมากขึ้น และหางของตัวอ่อนค่อย ๆ หายไป

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 10 สัปดาห์

แขน มือ เท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า สร้างเสร็จอย่างสมบูรณ์ ไม่มีพังผืดติดกันอีกต่อไป แขนขาสามารถโค้งงอได้ เริ่มมีการสร้างเล็บเกิดขึ้น

ขณะเดียวกันในสัปดาห์นี้ ทารกก็สามารถจับและดูดนิ้วมือได้ พร้อมทั้งเริ่มมีลายนิ้วมือปรากฎขึ้น

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 11 สัปดาห์

ทารกในสัปดาห์นี้มีรูปร่างที่เกือบจะสมบูรณ์คล้ายกับทารกเต็มวัยแล้ว โครงหน้าเริ่มชัดขึ้น และเริ่มมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น แต่คุณแม่จะยังไม่สามารถสัมผัสการดิ้นของลูกได้ในตอนนี้

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 12 สัปดาห์

ระบบอวัยวะ แขน ขา กล้ามเนื้อ ถูกสร้างขึ้นมาหมดแล้ว และจะพัฒนาต่อไปจนสมบูรณ์ ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ระบบกรองของเสีย เริ่มทำงาน ทารกเริ่มมีการปัสสาวะและดื่มน้ำคร่ำ

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 13 สัปดาห์

ศีรษะของทารกมีขนาดใหญ่ขึ้น เส้นเสียงเริ่มก่อตัวขึ้น นิ้วมือของทารกเริ่มมีลายนิ้วมือปรากฎมากขึ้น เริ่มมองเห็นเส้นเลือดและอวัยวะเพศของทารกได้ชัดเจน

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 พัฒนาการทารกในครรภ์เป็นอย่างไร


ตั้งครรภ์ 4 เดือน

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 14 สัปดาห์

ผิวหนังของทารกเริ่มหนาขึ้น ขนเส้นเล็ก ๆ เริ่มยาวขึ้น ลายนิ้วมือเริ่มชัดขึ้น อวัยวะเพศภายนอกพัฒนาจนสมบูรณ์

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 15 สัปดาห์

อวัยวะบางส่วน เช่น ลำไส้และหู กำลังเคลื่อนไปยังตำแหน่งถาวร ปอดเริ่มพัฒนาขึ้น และทารกในครรภ์ก็เริ่มฝึกหายใจโดยใช้น้ำคร่ำ เปลือกตาของทารกยังคงปิดอยู่ แต่สามารถสัมผัสได้ถึงแสงสว่าง หากคุณแม่ส่องไฟฉายไปที่ท้อง

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 16 สัปดาห์

ทารกเริ่มมีริมฝีปาก และหูพัฒนาจนสมบูรณ์สามารถที่จะได้ยินเสียงต่าง ๆ แล้ว ศีรษะของทารกเริ่มตั้งตรง ขณะที่หูค่อย ๆ เคลื่อนตัวไปยังตำแหน่งถาวร

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 17 สัปดาห์

ทารกเริ่มผลิตไขมันขึ้น เริ่มมีการผลิตไขสีขาวปกคลุมร่างกาย และรักษาความชุ่มชื้นของผิว สายสะดือหนาขึ้น แข็งแรงขึ้น ส่วนกระดูกและข้อต่อก็เริ่มที่จะแข็งตัวมากขึ้น ไม่ใช่กระดูกอ่อนอีกต่อไป

ตั้งครรภ์ 5 เดือน

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 18 สัปดาห์

ร่างกายของทารกปกคลุมไปด้วยขนอ่อน ที่ช่วยปกป้องผิวหนัง และสร้างความอบอุ่นให้แก่ทารก ขณะเดียวกันทารกก็สามารถที่จะเคลื่อนไหวไปมาได้มากขึ้น และสามารถได้ยินเสียงจากภายนอกชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยหรือเปิดเพลงให้ลูกฟังได้บ่อย ๆ

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 19 สัปดาห์

ประสาทสัมผัสของทารกพัฒนาได้ดีขึ้น สามารถได้ยินเสียงจากภายนอกได้ชัดเจน และสัมผัสได้ถึงแสงที่สว่างจ้าจากภายนอกด้วย ขณะเดียวกันก็เริ่มที่จะดิ้นบ่อยขึ้น มีการเตะ และต่อยที่ท้องคุณแม่ถี่ขึ้น

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 20 สัปดาห์

ระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 เริ่มพัฒนาขึ้น เล็บเริ่มยาวไปจนถึงปลายนิ้ว ระบบย่อยอาหารเริ่มทำการผลิตขี้เทา ซึ่งจะกลายมาเป็นอุจจาระครั้งแรกของทารกหลังคลอด

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 21 สัปดาห์

ไขกระดูกเริ่มทำการผลิตเซลล์เม็ดเลือด แขนและขาของทารกทำงานประสานกันได้ดีขึ้น จึงสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ เริ่มเตะท้องแรงขึ้น ดิ้นแรงขึ้น

ตั้งครรภ์ 6 เดือน

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 22 สัปดาห์

ทารกมีลักษณะที่คล้ายกับทารกแรกเกิดมาก ลักษณะต่าง ๆ บนใบหน้าปรากฎชัดเจนขึ้น ทั้งริมฝีปากและคิ้ว ขณะเดียวกันทักษะการหยิบจับของทารกก็เริ่มพัฒนามากขึ้น เริ่มมีการจับสายสะดือ สามารถสัมผัสกับหู หรือเอามือมาปิดหน้าของตนเองได้

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 23 สัปดาห์

หูของทารกรับเสียงได้ดีขึ้น ร่างกายผลิตไขมันออกมาสร้างความอบอุ่นมากขึ้น ในสัปดาห์นี้ ถือว่าระบบต่าง ๆ ของทารกอยู่ในระดับที่พร้อมทำงานแล้ว หากมีการคลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ ทารกสามารถที่จะรอดชีวิตได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 24 สัปดาห์

ทารกมีขนาดตัวที่ยาวมากขึ้น และปอดก็ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่พร้อมที่จะทำงานนอกมดลูก

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 25 สัปดาห์

ระบบประสาทของทารกพัฒนาขึ้นมาก ทารกเริ่มผลิตไขมันออกมาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผิวหนังของทารกเริ่มปรากฎรอยเหี่ยวย่น ซึ่งทำให้มีลักษณะที่คล้ายกับทารกแรกเกิดมากขึ้น

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 26 สัปดาห์

ทารกเริ่มสร้างเมลานิน ทำให้ผิวหนัง ดวงตา เริ่มมีสี ปอดของทารกก็เริ่มสร้างสารลดแรงตึงผิวเพื่อเตรียมสำหรับใช้ในการหายใจหลังคลอด ดวงตาพัฒนาสมบูรณ์แล้ว ขณะที่ลิ้นกำลังสร้างปุ่มรับรสขึ้น

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 พัฒนาการทารกในครรภ์เป็นอย่างไร


ตั้งครรภ์ 7 เดือน

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 27 สัปดาห์

ทารกเริ่มมีขนตา และสามารถลืมตากับกระพริบตาได้แล้ว มากไปกว่านั้น ทารกยังสามารถที่จะนอนหลับและตื่นนอนเป็นเวลาได้อีกด้วยนะ

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 28 สัปดาห์

ขนตาของทารกยาวมากขึ้น ทารกสามารถกระพริบตาเพื่อตอบสนองต่อแสงสว่างจากภายนอกที่จ้ามากเกินไปได้ และมีขนาดตัวยาวประมาณ 14 – 15 นิ้ว

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 29 สัปดาห์

ระบบกล้ามเนื้อและปอดของทารก เข้าสู่ช่วงท้ายของการพัฒนาเพื่อเตรียมพร้อมที่จะเริ่มทำงานหลังคลอดทันที คุณแม่อาจรู้สึกว่าลูกดิ้นแรงมากขึ้น ขนาดตัวของทารกขยายจนเต็มถุงน้ำคร่ำ จนทารกเริ่มรู้สึกอึดอัดที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างสะดวก

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 30 สัปดาห์

ระบบประสาทการได้ยิน ประสาทการลิ้มรส และการมองเห็นของทารกทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ทารกสามารถที่จะจดจำเสียงของแม่ได้แล้ว

ตั้งครรภ์ 8 เดือน

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 31 สัปดาห์

ชั้นไขมันใต้ผิวหนังของทารกสร้างขึ้นเต็มแขนและขา โครงหน้าของทารกก็ชัดเจนมากขึ้น โดยสามารถมองเห็นอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้าได้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นผ่านการอัลตราซาวนด์

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 32 สัปดาห์

ปอดและระบบอวัยวะต่าง ๆ ของทารกพร้อมแล้วที่จะเริ่มทำงานทันทีหลังคลอด และผิวหนังของทารกก็เริ่มที่จะมีสีทึบ ไม่เป็นผิวหนังโปร่งแสงอีกต่อไป

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 33 สัปดาห์

กระดูกของทารกแข็งตัวมากยิ่งขึ้น สวนทางกับสมองและกะโหลกศีรษะที่ยังนิ่มอยู่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการกลับหัว และเพื่อให้สามารถเคลื่อนตัวออกทางช่องคลอดได้ง่าย

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 34 สัปดาห์

ระบบต่าง ๆ ของทารกพัฒนาจนเกือบจะสมบูรณ์ทุกระบบแล้ว ไขทารกยังคงผลิตออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ ระบบประสาทส่วนกลางก็เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 35 สัปดาห์

ไตของทารกพัฒนาจนสมบูรณ์แล้ว ส่วนตับก็เริ่มที่จะมีการขับของเสียบางอย่างออกจากร่างกาย สมองของทารกยังเติบโตตามปกติ แต่น้ำหนักของสมองตอนนี้ยังน้อยกว่าน้ำหนักสมองของทารกแรกเกิด

ตั้งครรภ์ 9 เดือน

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 36 สัปดาห์

ศีรษะของทารกจะมีเส้นผมยาวขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ขนอ่อนและไขมันตามผิวหนังทารกเริ่มหลุดออกไปเรื่อย ๆ

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 37 สัปดาห์

เล็บเท้าของทารกเริ่มยาวถึงปลายนิ้วเท้า และทารกส่วนใหญ่ก็เริ่มที่จะกลับหัวในสัปดาห์นี้ พร้อมที่จะคลอดออกมาดูโลกแล้ว

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 38 สัปดาห์

ผิวหนังของทารกเรียบเนียนขึ้น ขนอ่อนหลุดออกไปจนเกือบหมดแล้ว การเชื่อมตัวของระบบประสาททำงานเข้ากันได้ดี และเส้นผมที่ศีรษะก็เริ่มดกขึ้นเรื่อย ๆ

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 39 สัปดาห์ 

ระบบต่าง ๆ ของทารกพัฒนาจนสมบูรณ์แล้ว ทารกเคลื่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกรานเต็มที่ พร้อมแล้วที่จะคลอดออกมาดูโลกกว้างใบนี้

  • พัฒนาการทารกในครรภ์ 40 สัปดาห์

ระบบต่าง ๆ ของทารกแม้จะพัฒนาจนสมบูรณ์แล้ว แต่จะยังคงพัฒนาต่อไปไม่มีหยุด และในสัปดาห์นี้นี่แหละเป็นวันดีที่คุณพ่อคุณแม่จะได้เห็นหน้าลูกน้อยหลังจากรอมานานกว่า 40 สัปดาห์

อนาคตที่ดีที่สุดของลูก เริ่มต้นด้วยโภชนาการผ่านคุณแม่

เด็กจะเติบโตมาแข็งแรง มีสุขภาพดี ฉลาด มีไอคิวที่สมวัยได้ พื้นฐานต้องเริ่มมาจากอาหารการกินของคุณแม่ค่ะ

โดยกลุ่มสารอาหารสำคัญที่คุณแม่จะต้องได้รับอย่างเพียงพอตลอดการตั้งครรภ์ ได้แก่

  • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท นอกจากนี้ยังอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง
  • โปรตีน ดีต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างน้ำนมให้กับคุณแม่
  • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการคลอดทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ
  • กรดโฟลิก หรือโฟเลต มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง หากคุณแม่ได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้ลูกน้อยเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทได้
  • แคลเซียม มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ป้องกันภาวะกระดูกพรุนทั้งแม่และทารก
  • ไอโอดีน ป้องกันภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายผิดปกติ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์
  • โคลีน มีส่วนสำคัญในการบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ ลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์
  • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา ลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักแรกเกิดต่ำอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าโภชนาการสำหรับแม่ตั้งครรภ์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะถ้าหากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ อาจเพิ่มความเสี่ยงที่อันตรายต่อทารกได้ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่

ดังนั้น หากคุณแม่ใส่ใจเรื่องอาหารการกินเป็นประจำทุกมื้อ ก็จะเท่ากับว่าคุณแม่ได้เริ่มการปูพื้นฐานการมีสุขภาพดี มีสมองที่ดีแก่ลูกน้อย ส่งเสริมให้ลูกพร้อมที่จะเติบโตอย่างสมวัย และก้าวไกลไปสู่อนาคตที่ดีอย่างมีคุณภาพได้ค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

พัฒนาการและสุขภาพ/ตั้งครรภ์1สัปดาห์กับพัฒนาการลูกน้อย
เทคนิคนับอายุครรภ์/ด้วยตนเองแบบง่ายๆ
babies-born-at-7-months
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner